แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จัก “โลโก้” เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่จะบ่งบอกถึงตัวตนของแบรนด์ ธุรกิจ รวมไปถึงองค์กร เรียกว่าโลโก้นั้นเป็นตัวแทนของแบรนด์เลยก็ว่าได้ และยังเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าอีกด้วย ซึ่งโลโก้ก็มีหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ให้กลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ จดจำ และเชื่อมั่นในแบรนด์มากยิ่งขึ้น
โดยการออกแบบโลโก้ที่ดีนั้นก็ต้องคำนึงถึงหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกฟ้อนต์ ตัวย่อ รูปภาพ ไอคอน และอื่น ๆ เพื่อที่จะสื่อสารและสะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์ออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งการออกแบบโลโก้ที่ดีจะช่วยให้แบรนด์ของคุณโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งอย่างสิ้นเชิง
วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโลโก้ 7 ประเภท ว่าโลโก้แต่ละแบบมีลักษณะต่างกันอย่างไร รวมถึงยังมีตัวอย่างโลโก้ให้คุณลองเทียบว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบโลโก้ของแบรนด์ตัวเองได้อย่างตรงใจ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย!
ทำความรู้จักกับโลโก้ 7 ประเภท
1. โลโก้แบบตัวย่อ (Monogram หรือ Lettermark)
โลโก้ตัวย่อนั้นมักจะเป็นชื่อย่อของบริษัทหรือชื่อแบรนด์ที่มีความยาว ซึ่งประกอบไปด้วยตัวอักษร 2-3 ตัวเด่น ๆ ที่จะช่วยสร้างการจดจำได้ดีกว่าใช้ชื่อเต็ม เน้นความเรียบง่ายและคล่องตัว อ่านออกและรู้ได้ทันทีว่าเป็นตัวอักษรอะไร สามารถเชื่อมไปยังแบรนด์ได้อย่างชัดเจน เช่น HBO, CNN ,HP, NASA และ H&M เป็นต้น
2. โลโก้แบบตัวอักษร (Wordmark หรือ Logotype)
โลโก้ตัวอักษรจะค่อนข้างคล้ายกับโลโก้ตัวย่อ แต่มักจะใช้ชื่อแบรนด์หรือชื่อบริษัทเต็ม ๆ มาทำเป็นโลโก้เลย พร้อมทั้งปรับแต่งหรือเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ เข้าไปเพียงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่แล้วจะเลือกใช้ฟอนต์ที่มีลักษณะคล้ายกับแบรนด์ เพื่อให้เหมาะสมกับแบรนด์มากที่สุด แต่ที่สำคัญตัวหนังสือต้องอ่านง่าย ชัดเจน ซึ่งโลโก้ตัวอักษรก็จะช่วยตอกย้ำความเป็นแบรนด์ให้ติดหูและสร้างการจดจำต่อผู้บริโภคได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เช่น Google, Coca Cola, Sharp, Ebay และ Disney เป็นต้น
3. โลโก้แบบรูปภาพหรือสัญลักษณ์ (Pictorial Mark หรือ Symbol)
โลโก้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ คือ การออกแบบกราฟิกที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของแบรนด์ ธุรกิจ หรือองค์กร ที่อาจสื่อความหมายของกิจกรรมหรือวิสัยทัศน์ขององค์กรนั้น ๆ ได้ ซึ่งต้องออกแบบกราฟิกออกมาให้จดจำได้ง่าย เห็นแล้วรู้ทันทีว่าคือแบรนด์อะไร แม้ว่ารูปภาพหรือสัญลักษณ์นั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการเลยก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้รูปทรงที่ไม่ซับซ้อน หรือเน้น 2D เพื่อที่จะสามารถเล่นกับพื้นที่ว่าง หรือ Negative Space บริเวณรอบ ๆ กราฟิกได้ในบางครั้ง เช่น Nike และ Apple เป็นต้น
4. โลโก้แบบนามธรรม (Abstract Logo Mark)
โลโก้แบบนามธรรม คือ รูปภาพหรือสัญลักษณ์ที่ถูกสมมติขึ้นมา ไม่เน้นความหมาย ไม่สื่อสารอย่างตรงตัว ซึ่งอาจได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเรขาคณิต รูปร่าง ลายเส้น หรืออ้างอิงจากรูปภาพที่สามารถนำมาดัดแปลงให้เกิดเป็นรูปภาพนามธรรมแบบใหม่ได้ โดยนักออกแบบจะไม่เล่าเรื่องราวออกมาตรง ๆ ว่าโลโก้นี้หมายถึงอะไร ผู้บริโภคต้องตีความเอาเองว่าตรงใจกับคอนเซ็ปของนักออกแบบหรือเปล่า เช่น Pepsi, Adidas, MasterCard และ McDonald เป็นต้น
5. โลโก้แบบมาสคอต (Mascot)
โลโก้แบบมาสคอต คือ การออกแบบโลโก้จากคนและสัตว์ให้กลายมาเป็นตัวการ์ตูน ซึ่งอาจเป็นมาสคอตจากผู้ก่อตั้งก็ได้ เช่น ผู้พัน KFC เป็นต้น โดยมาสคอตจะถือเป็นตัวแทนของแบรนด์ที่มีหน้าที่สื่อสารหรือประชาสัมพันธ์กับลูกค้า ช่วยสร้างการจดจำต่อผู้บริโภคเป็นอย่างดี รวมถึงยังเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับแบรนด์ให้มีส่วนร่วมต่อกัน เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการสร้างบรรยากาศอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับแบรนด์ เช่น Michelin, Pringles และ KFC เป็นต้น
6. โลโก้แบบภาพและตัวอักษร (Combination Mark Logo)
โลโก้แบบภาพและตัวอักษร คือ การออกแบบโลโก้ที่ประกอบไปด้วยรูปภาพ สัญลักษณ์ และตัวอักษร อย่างผสมผสานกัน โดยสามารถจัดวางทั้งสองให้อยู่รวมกันหรือวางข้างกันก็ได้ ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าโลโก้ประเภท Combination Mark Logo จะมักมี Wordmarks ร่วมด้วยเสมอ เช่น Burger king, Puma และ Domino Pizza เป็นต้น
7. โลโก้แบบตรา (Emblem Logo)
โลโก้แบบตรา คือ การออกแบบโลโก้ด้วยการนำรูปภาพ สัญลักษณ์ และตัวอักษร มารวมตัวกันภายใต้กรอบเดียวกันหรือรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วโลโก้แบบตรามักจะพบในกลุ่มของสถาบันโรงเรียน มหาวิทยาลัย และภาครัฐต่าง ๆ เพราะกลุ่มสถาบันเหล่านี้มักจะมีประวัติศาสตร์และความเป็นมาขององค์กรอย่างยาวนาน มีรายละเอียดและสัญลักษณ์มากมาย ทำให้องค์กรดูมีคุณค่าและขลังมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังการใช้รายละเอียดที่มากเกินไป พวกสัญลักษณ์และตัวอักษรต่าง ๆ เพราะต้องใช้กรอบเดียวกันเพียงกรอบเดียว ซึ่งอาจเก็บรายละเอียดได้ไม่ครบถ้วนนั่นเอง
ทั้งหมดนี้คือโลโก้ 7 ประเภทที่สายนักออกแบบต้องรู้ และแน่นอนว่าการออกแบบโลโก้นั้นมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากโลโก้เปรียบเสมือนการเล่าประวัติความเป็นมาของแบรนด์ การเติบโตแต่ละช่วงปี ค่านิยม สไตล์ และเป้าหมายของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน รวมถึงยังช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ดี เพิ่มความน่าเชื่อถือและยกระดับมูลค่าให้กับแบรนด์ โดยแบรนด์ไม่จำเป็นต้องใช้โลโก้แบบเดียวกับทุกสื่อ เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนโลโก้ให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์มได้ เพียงแต่ต้องคงเอกลักษณ์และจุดเด่นของแบรนด์ไว้ด้วย
แต่ถ้าหากคุณยังเลือกไม่ได้ว่าแบรนด์ควรใช้โลโก้ลักษณะแบบไหน เราให้คำปรึกษาฟรี! คลิกเลย
ทางทีม BEP Digital Agency ยินดีให้คำปรึกษาและรับทำ Logo ให้ตรงใจแบรนด์ของคุณที่สุด รวมถึงรับออกแบบเว็บไซต์, UX/UI, Branding และ Media design นอกจากนี้เรายังมีบริการด้าน Digital Marketing แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น Content Marketing, SEO, Google Ads และ Social media Ads
{{CTABrand="/blog"}}