Back

มีสติก่อนช็อป อย่าปล่อยให้ "Girl Math" หลอกคุณ!

“Girl Math” เป็นแนวคิดหรือตรรกะฮีลใจของนักช็อปที่มีมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่ทำให้ Girl Math กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ก็คงหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง “TikTok” เพราะมีอินฟูลเอนเซอร์จำนวนมากได้โพสต์คลิปเกี่ยวกับการคิดเงินแบบ Girl Math ของตัวเอง จนกระทั่งมีคนนำคลิปดังกล่าวไปตัดต่อจนเกิดเป็นไวรัล ส่งผลให้สังคมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตรรกะ Girl Math ทั้งในกระแสแง่บวกและแง่ลบ

แต่พออ่านถึงตรงนี้ ก็ยังเชื่อว่ามีอีกหลายคนยังไม่รู้จักคำว่า Girl Math ถ้าใครอยากรู้ว่า Girl Math คืออะไร ใช้ตรรกะคิดเงินแบบนี้ดีหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ Girl Math กัน !

แนวคิดแบบ Girl Math คืออะไร ?

การคิดเงินแบบหารราคาของสินค้าเป็น “จำนวนครั้งต่อการใช้งาน” โดยส่วนมากจะนำแนวคิดนี้ไปใช้กับการซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ เป็นการพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งที่ซื้อมันคุ้มค่า ทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง ซึ่งเราก็มีหลากหลายสถานการณ์ที่จะนำมายกตัวอย่างให้ทุกคนเห็นภาพ ตามมาดูกันครับ

  • ถ้าคุณอยากซื้อกระเป๋าราคาแพงสักใบ ก็ลองหารจำนวนวันที่ใช้งานดู เช่น กระเป๋าราคา 120,000 บาท จำนวนวันที่ต้องการใช้งานคือ 5 ปี หรือประมาณ 1,825 วัน พอหารออกมาแล้วจะทำให้ราคาเฉลี่ยของกระเป๋าใบนี้ลดลงเหลือต่อวันไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท ยิ่งในกรณีคุณซื้อกระเป๋าลดราคา เงินส่วนต่างก็จะทำให้คุณประหยัดได้มากยิ่งขึ้น

  • ถ้าคุณซื้อเสื้อผ้ามาในราคา 500 บาท ใส่ไป 5 ครั้ง พอหารออกแล้วจะตกครั้งละ 100 บาท และถ้าหากนำไปขายต่อในราคา 100-200 บาท ก็ถือว่าซื้อมาคุ้มแล้ว เหมือนคุณได้ใส่เสื้อผ้ามาฟรี ๆ

  • ถ้าคุณซื้อของลดราคาจาก 1,500 บาท เหลือเพียง 1,000 บาท นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะจ่ายเงินน้อยลง เพราะคุณสามารถนำเงินส่วนต่าง 500 บาทไปซื้ออะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรู้สึกผิด

  • ใช้เงินสดซื้อก็เหมือนได้ของฟรี เพราะไม่มีตัวเลขถูกหักลบออกไปจากเงินในบัญชีธนาคาร

  • การซื้อสินค้าหรือบริการล่วงหน้าหลาย ๆ เดือน เช่น คอนเสิร์ต ที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อพอถึงเวลาไปใช้บริการจริง ๆ ก็เหมือนไปฟรี เพราะใช้เงินซื้อไปนานมากแล้ว

จากสถานการณ์ที่ยกตัวอย่างข้างต้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนในสังคมโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในกระแสแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งแนวคิดแบบ Girl Math มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ควรทำตามหรือไม่ มาดูกัน

ข้อดีของแนวคิดแบบ Girl Math

ในบางครั้งจะช่วยให้คุณได้ปล่อยวางอารมณ์และความอยากได้เอาไว้ก่อน ยกตัวอย่างเช่นการซื้อของชิ้นใหญ่ พอคุณทำการหารจำนวนครั้งที่จะใช้งานจริง ๆ บางทีก็อาจไม่ได้คุ้มเสมอไป เพราะคุณอาจจะไม่ได้ใช้บ่อยขนาดนั้น ราคาที่หารออกมาอาจจะยังสูงอยู่ การคิดแบบ Girl Math จึงอาจช่วยยับยั้งการตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์ได้นั่นเอง

ข้อเสียของแนวคิดแบบ Girl Math

ในส่วนของข้อเสีย มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการสร้างกรอบความเชื่อแบบผิด ๆ เกี่ยวกับการเงิน ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพการเงินในระยะยาว เนื่องจากผู้ที่นำเหตุผล Girl Math มาใช้สำหรับการซื้อของชิ้นใหญ่ มักจะเป็นผู้ที่ไม่มีเงินก้อนสำรอง จึงต้องหาเหตุผลต่าง ๆ มาเข้าข้างตัวเองว่ามันไม่แพง ซื้อได้ ไม่ต้องรู้สึกผิด แต่ถ้าหากคุณทำแบบนี้บ่อย ๆ อาจทำให้คุณมีปัญหาทางด้านการเงินจนกลายเป็นหนี้ได้ในที่สุด !

ถึงแม้ว่าแนวคิด Girl Math จะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่อารมณ์ของมนุษย์ที่อยากได้ของบางอย่างก็อยู่เหนือเหตุผล สมองของคุณจะพยายามหาเหตุผลเพื่อซื้อสิ่งนั้นให้ได้ ทำให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อและใช้แนวคิด Girl Math ไปในทางที่ผิด ๆ จนทำให้คุณตกอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินที่แย่ลงไปกว่าเดิม ซึ่งอินฟูลเอนเซอร์ใน TikTok ก็ทำเอาคอนเทนต์กันทั้งนั้น ไม่ได้มาช่วยคุณจ่ายเงินด้วย ดังนั้นต้องมีสติก่อนใช้เงินทุกครั้งนะครับ

{{CTA="/blog"}}

Blogs Recommended

Back to top