Back

ทำความรู้จักกับ Cookies บนเว็บไซต์

Table of Contents

เคยสังเกตไหมว่าทำไมการเข้าชมเว็บไซต์ถึงต้องมี Pop-up เด้งขึ้นมาว่าให้กด “ยอมรับคุกกี้” ตลอดเลย ซึ่งบางทีก็กดยอมรับไปโดยไม่คิดอะไร เพราะรีบที่จะเข้าไปดูข้อมูลเว็บไซต์นั้น ๆ แต่พอกดออกจากเว็บไซต์แล้วกลับเข้าไปดูใหม่อีกที ข้อมูลส่วนตัวที่เราเคยใช้งานบนเว็บไซต์นั้นยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน โดยสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการที่คุณกดยอมรับ ‘คุกกี้ (Cookies)’ นั่นเอง

สงสัยกันแล้วใช่ไหมล่ะว่าการกดยอมรับคุกกี้คืออะไร วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Cookies กันอย่างละเอียด เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าการกดยอมรับคุกกี้นั้นส่งผลต่อข้อมูลส่วนตัว
ของคุณมากน้อยแค่ไหน ไปหาคำตอบกัน!

Cookies คืออะไร ?

Cookies คือ ไฟล์ข้อความขนาดเล็ก (Text File) ที่ถูกเก็บบันทึกไว้บนคอมพิวเตอร์ เป็นไฟล์ที่ได้จากการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับเว็บไซต์ ซึ่งคุกกี้จะถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อมีผู้เข้าชมเว็บไซต์นั้น ๆ ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเว็บไซต์และผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการจดจำรหัสผ่าน การเลือกรายการสั่งซื้อ การกรอกข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในครั้งถัดไปให้แก่ผู้ใช้งานที่เคยเข้าชมเว็บไซต์นั้น ๆ รวมถึงยังช่วยให้เว็บไซต์สามารถนำเสนอข้อมูลให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานในครั้งถัดไปได้อีกด้วย

ประเภทของ Cookies

จริง ๆ แล้ว Cookies นั้นมีอยู่หลากหลายประเภทให้เจ้าของเว็บไซต์ได้เลือกใช้งาน แต่เราได้รวบรวมมาเพียง 4 ประเภทหลักที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่


1. Session Cookies

เป็นหน่วยความจำชั่วคราวของเว็บไซต์ มีหน้าที่บันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนหน้าเว็บไซต์เพียงชั่วคราว ไม่เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว เมื่อเราปิดเว็บไซต์ Cookies ตัวนี้ก็จะหายไปในทันที

2. First-Party Cookies

เป็นหน่วยความจำถาวรของเว็บไซต์ มีหน้าที่บันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนหน้าเว็บไซต์แบบถาวร แม้ว่าคุณจะปิดเว็บไซต์ออกไปแล้ว ข้อมูลก็ยังคงอยู่ภายในเว็บไซต์อยู่เหมือนเดิม อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานสุด ๆ แต่ข้อควรระวังคือ เจ้าของเว็บไซต์จะสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้งานของคุณได้ตลอดเวลา

3. Third-Party Cookies

Third-Party Cookies สามารถอนุญาตให้บุคคลที่สามเข้าถึงและแสดงโฆษณาต่อผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้ โดยคุกกี้ตัวนี้จะทำหน้าที่แอบติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน เช่น ประวัติการเล่นเว็บไซต์ ลักษณะการใช้จ่าย เป็นต้น

4. Performance and analytical Cookies

มีหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และประเมินประสิทธิภาพการใช้งานโดยรวมของเว็บไซต์ เช่น ระยะการเข้าชมเว็บไซต์ จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ พฤติกรรมการเข้าชมเว็บไซต์ เป็นต้น เพื่อที่เจ้าของเว็บไซต์จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์ให้มีคุณภาพดีและเหมาะสมแก่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

Cookies มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

  • ช่วยบันทึกข้อมูลของผู้ใช้งาน ลดขั้นตอนความยุ่งยากในการกรอกข้อมูลเดิม ๆ
  • ช่วยจดจำพฤติกรรมการใช้งานบนบราวเซอร์ของผู้ใช้งาน
  • นำข้อมูลจากการวิเคราะห์มาปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
  • เว็บไซต์สามารถนำเสนอข้อมูลได้ตรงความต้องการของผู้ใช้งานในครั้งถัดไป
  • ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นประเภทโฆษณาตามความต้องการและความสนใจของตัวเอง

เมื่อกดยอมรับคุกกี้บนเว็บไซต์ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

Cookies จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปประมวลผลและนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้งาน ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น การเสนอขายสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ใช้งาน การจดจำรหัสผ่าน การเลือกรายการสั่งซื้อ การกรอกข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น


ถ้าไม่กดยอมรับคุกกี้บนเว็บไซต์ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

อันที่จริงการบล็อกหรือลบคุกกี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายคนนิยมทำกัน แต่ก็อาจส่งผลให้คุณใช้งานเว็บไซต์นั้นได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากบางเว็บไซต์มีการกำหนดไว้ว่าหากไม่อนุญาตให้ใช้คุกกี้บนหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเข้าชมเนื้อหาได้บางส่วนหรือไม่สามารถซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์นั้น ๆ ได้ ทำให้คุณต้องเสียเวลาไปรีเซ็ตการตั้งค่าส่วนบุคคล เพื่อปลดบล็อกและอนุญาตให้ใช้คุกกี้ในภายหลัง

แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันก็มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่เจ้าของเว็บไซต์จะต้องขอความยินยอม (consent) การจัดเก็บข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลก่อน ด้วยการแจ้งให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์ทราบว่ามีการใช้คุกกี้ ระบุวัตถุประสงค์การเก็บรวบรวม ขอความยินยอมการจัดเก็บคุกกี้ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ข้อความไม่กำกวม ไม่สร้างเงื่อนไขให้กับผู้ใช้เว็บไซต์ ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถเลือกได้ว่าจะให้เว็บไซต์ใช้คุกกี้หรือข้อมูลประเภทใดได้บ้าง ดังนั้นการแจ้งขอจัดเก็บคุกกี้จึงถือว่าเป็นหลักฐานในการปฏิบัติตาม PDPA เจ้าของข้อมูลสามารถขอยกเลิกหรือถอนความยินยอมได้ทุกเมื่อครับ

อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานควรพิจารณาก่อนที่จะกดยินยอมคุกกี้ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการควบคุมความเป็นส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต ส่วนเจ้าของเว็บไซต์ก็ควรแจ้งผู้ใช้งานว่ามีการใช้คุกกี้อย่างละเอียด ข้อมูลครบถ้วน ข้อความไม่สร้างความกำกวม เพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดความสบายใจในการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ และกดยอมรับคุกกี้ได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ ด้วยความโปร่งใสแบบนี้ก็จะช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเมื่อคุณทราบถึงความสำคัญของ Cookies บนเว็บไซต์แล้ว ต่อไปเราจะพาไปทำความรู้จักกับ 4 ข้อต้องรู้ เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ !

{{CTAWebsite="/blog"}}

Blogs Recommended

Back to top