Back

รู้จัก Motion Graphic ตัวช่วยสื่อสารสุดสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล

ในยุคที่การสื่อสารด้วย Motion Graphic หรือภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหว กลายเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือบนสื่อโซเชียลมีเดีย ในหลาย ๆ ธุรกิจมักมีการนำ Motion Graphic มาใช้เป็นสื่อในการทำการตลาดและการโฆษณา เพราะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ชม และช่วยสื่อสารข้อมูลออกมาได้เข้าใจง่ายและมีประสิทธิภาพ

ในบทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Motion Graphic ว่าคืออะไร แบ่งออกได้เป็นกี่ประเภท และมีขั้นตอนในการทำอย่างไรบ้างกันค่ะ

Motion Graphic คืออะไร?

Motion Graphic หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหว คือการนำกราฟิกต่าง ๆ เช่น รูปภาพ ไอคอน หรือตัวอักษร ฯลฯ มาเรียงต่อกันให้เป็นลำดับเรื่องราวในรูปแบบของ Animation โดยการทำภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหวจะใช้วิธีการเล่าเรื่องราวแบบสั้น ๆ ด้วยสีและลำดับของภาพ แตกต่างจาก Animation ที่จะเน้นการสร้างตัวละครที่ซับซ้อนหรือการเล่าเรื่องราวในเชิงลึก

Motion Graphic ช่วยให้คอนเทนต์ที่สร้างมีความสนุกสนาน น่าติดตาม และดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าการนำเสนอแบบภาพนิ่ง เพราะภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหวสามารถบอกเล่าเนื้อหาได้อย่างครบถ้วนภายในระยะเวลาสั้น ๆ ปัจจุบันมีการนำเอา Motion Graphic ไปใช้ประกอบในงานสื่อต่าง ๆ เช่น โฆษณา รายการโทรทัศน์ หรือหนังสั้น ฯลฯ

ประเภทของ Motion Graphic มีอะไรบ้าง?

  • Advertising

Advertising คือโฆษณา Motion Graphic ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการโปรโมตสินค้าหรือบริการ โดยใช้วิธีการนำ Effect มาใส่ในภาพกราฟิกเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว ทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยโฆษณาภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหวจะพบเห็นได้ในรายการโทรทัศน์ ป้ายโฆษณาตามพื้นที่สาธารณะ รวมถึงบนสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

  • Explainer Videos

Explainer Videos คือโฆษณาอีกประเภทที่ใช้ Motion Graphic ในการอธิบายเนื้อหากับผู้ชมด้วยการแบ่งข้อมูลออกมาเป็นขั้นตอน และใช้วิธีการนำเสนอด้วยภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหว ช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะโฆษณามีลักษณะที่สั้น กระชับ และมีความชัดเจน

  • UI Animations

UI Animations หรือการสื่อประสานกับผู้ใช้ คือการใช้ Motion Graphic เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้งานบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับเว็บไซต์หรือแอปพลิชันมากขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวของปุ่มหรือเมนู การหมุน การขยับไปมา หรือการเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ ฯลฯ

  • Animated Logos

Animated Logos คือการทำ Motion Graphic เพื่อสร้างโลโก้ให้สามารถเคลื่อนไหวได้ เพิ่มความโดดเด่นและมีชีวิตชีวาให้กับโลโก้มากยิ่งขึ้น การทำ Animated Logos ยังสามารถนำมาทำเป็นคลิปวิดีโอขนาดสั้นเพื่อใช้ในการแนะนำธุรกิจหรือโฆษณาบนสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้อีกด้วย

  • Kinetic Typography

Kinetic Typography คือการทำ Motion Graphic ให้ตัวอักษรหรือข้อความมีการเคลื่อนไหว รวมทั้งมีการใส่ Timing และ Effect ลงไป ช่วยให้ข้อความโฆษณาที่ปรากฏบนสื่อต่าง ๆ มีความน่าสนใจ ดึงดูดสายตาผู้ชม และสามารถสื่อสารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ Kinetic Typography ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาสร้างวิดีโอโฆษณา

  • Film & TV Titles

การทำ Motion Graphic ในรูปแบบของ Film & TV Titles คือการสร้างความเคลื่อนไหวให้กับชื่อของภาพยนตร์ หนังสั้น รายการทีวี หรือสื่อบันเทิงต่าง ๆ โดยมีการใช้กราฟิกและ Effect เพื่อช่วยให้เกิดการจดจำและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชม การทำภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหวในลักษณะนี้มักใช้ในการโปรโมตผลงานในวงการบันเทิง

ขั้นตอนในการทำ Motion Graphic

ขั้นตอนในการทำ Motion Graphic หรือการทำภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหว มีด้วยกันทั้งหมด 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนก่อนการผลิต (Pre-Production) ขั้นตอนการผลิต (Production) และขั้นตอนหลังการผลิต (Post-Production)

1. ขั้นตอนก่อนการผลิต (Pre-Production)

1.1 Direction Concept

ขั้นตอนแรกของการทำ Motion Graphic คือการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์คอนเซปต์ เพื่อนำมาใช้ในการวางโครงสร้างทิศทางของเนื้อหาที่ต้องการจะเล่า ซึ่ง Direction Concept มักจะมีโครงเรื่องมากกว่า 1 โครงเรื่อง เพื่อให้สามารถเขียน Script ได้หลากหลาย

1.2 Mood Board

ขั้นตอนในการทำ Mood Board คือการกำหนดอารมณ์ของ Motion Graphic ด้วยการใช้สี สไตล์ คาแรกเตอร์ และรูปแบบของตัวอักษรหรือ Font ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถเกิดความรู้สึกร่วมด้วยได้

1.3 Script 

ขั้นตอนต่อมาคือการนำข้อมูลที่ได้จาก Direction Concept มาเขียนเป็น Script โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ การเกริ่นนำ (Introduction) ใจความ (Main Idea) และสรุป (Ending) และ Script ควรมีความยาวอย่างน้อย 2 นาที และไม่ควรยาวเกิน 15 นาที

1.4 Storyboard 

ลำดับต่อมาคือการทำ Storyboard ซึ่งเป็นการนำ Script มาเล่าคู่กับภาพให้เป็นลำดับเรื่องราวที่สมบูรณ์ เพื่อใช้แสดงรายละเอียดของเนื้อหาที่จะปรากฏในแต่ละฉากว่าต้องการจะสื่อสารอะไรกับผู้ชม หรือต้องการให้เคลื่อนไหวในรูปแบบไหน 

2. ขั้นตอนการผลิต (Production)

2.1 Artwork

ในขั้นตอนนี้คือการจัดรายละเอียดและองค์ประกอบของ Motion Graphic ให้อยู่ในรูปแบบของ Visual Content ด้วยการนำ Artwork ที่ออกแบบจากโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Adobe Illustrator หรือ Adobe Photoshop ฯลฯ มาใช้ในการเคลื่อนไหว

2.2 Motion 

หลังจากทำ Artwork ในโปรแกรมต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนนี้คือการนำ Artwork ที่ได้มาแยกเป็น Layer ด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator และทำให้ Artwork เกิดการเคลื่อนไหวด้วยโปรแกรม Adobe After Effects

3. ขั้นตอนหลังการผลิต (Post-Production)

3.1 Sequencing

Sequencing หรือการลำดับภาพ คือการนำฉากที่สร้างด้วยโปรแกรม Adobe After Effects มาเรียงลำดับภาพให้เป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์ รวมถึงมีการเพิ่ม Transition Effects ในขั้นตอนนี้ด้วย

3.2 Mix Sound

ในขั้นตอนนี้คือการบันทึกเสียงที่จะใช้บรรยายใน Motion Graphic ร่วมกับเสียง Effect และเสียงดนตรี โดยจะต้องเลือกจังหวะของดนตรีและปรับระดับความดังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ดังหรือเบาจนเกินไป

Motion Graphic ได้รับความนิยมอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการตลาดและการสร้างคอนเทนต์ดิจิทัล เพราะช่วยให้การสื่อสารมีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าใจข้อมูลได้ง่ายและมีความน่าจดจำ หากคุณกำลังมองหาวิธีการสื่อสารและโปรโมตธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ Motion Graphic ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากค่ะ

Blogs Recommended

Back to top